สุดอั้น! จ่อขึ้นดีเซลอีก 1 บาท พาณิชย์ขยับตามสถานการณ์สินค้าใกล้ชิด

สุดอั้น! จ่อขึ้นดีเซลอีก 1 บาท พาณิชย์ขยับตามสถานการณ์สินค้าใกล้ชิด

ความคืบหน้าการปรับราคาน้ำมันดีเซล: พาณิชย์เตรียมขึ้นราคา 1 บาทต่อลิตร

ความคืบหน้าการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป หลังจากครบกำหนดกรอบราคาไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ตรึงราคาขายปลีกตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.-31 ก.ค.นี้ โดยมีแนวโน้มว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะพิจารณาการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลทีละ 1 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาสุดท้ายไปแตะที่ระดับไม่เกิน 34 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันฐานะ ณ วันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ติดลบ 111,595 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,944 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 47,651 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังคงมีความผันผวนสูง แม้ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ราคาลดลงเล็กน้อยจนกองทุนน้ำมันสามารถลดการอุดหนุนระดับ 4 บาทต่อลิตร และเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลเข้าสะสมในกองทุนได้สำเร็จ แต่ขณะนี้แนวโน้มกลับมาขึ้นอีกครั้ง ทำให้กองทุนต้องอุดหนุนกว่า 2 บาทต่อลิตร สถานการณ์ดังกล่าวหากไม่ปรับราคาหลังวันที่ 31 ก.ค. อาจทำให้กองทุนมีสถานะติดลบรุนแรง

ก่อนที่ กบน. จะพิจารณาแนวทางปรับราคาในเดือน มิ.ย. จนถึงปัจจุบัน กบน. ได้พยายามดำเนินการอีกสองแนวทางเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาขายปลีก แต่ด้วยสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ พบว่าไม่น่าจะดำเนินการได้ ประกอบด้วย 1. การส่งหนังสือถึงสำนักงบประมาณเพื่อขอใช้งบกลางปี 2567 วงเงิน 6,500 ล้านบาท แบ่งเป็นน้ำมันดีเซล 6,000 ล้านบาท และแอลพีจี 500 ล้านบาท ซึ่งได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการว่างบกลางมีจำกัด อาจไม่สามารถนำมาดูแลราคาน้ำมันดีเซลและแอลพีจีได้ และ 2. การเสนอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลลง แต่ท่าทีของกระทรวงการคลังไม่ตอบรับเพราะต้องจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดทั้งสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ 18 หมวด และสินค้าอื่นๆ เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนการขนส่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนของสินค้า แต่ละสินค้าจะได้รับผลกระทบต่างกัน ไม่เท่ากันทุกสินค้า อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในยังคงขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาขายต่อไป หากผู้ผลิตรายใดแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว และขอปรับขึ้นราคา ก็จะพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรมและอยู่ร่วมกันได้ โดยผู้ผลิตทั้งต้นทางและปลายทางยังสามารถผลิตสินค้าต่อไปได้ ไม่ขาดทุนจนต้องปิดกิจการหรือหยุดผลิตจนทำให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงจะขอความร่วมมือห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้าต่างๆ จัดโปรโมชั่นลดราคาขายสินค้าหมุนเวียน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชน

สำหรับสินค้าทั้ง 18 หมวด ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารสด (ไข่ไก่ เนื้อสัตว์), อาหารกระป๋อง, ข้าวสารถุง, ซอสปรุงรส, น้ำมันพืช, น้ำอัดลม, นมและผลิตภัณฑ์จากนม, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ซักล้าง, ปุ๋ย, ยาฆ่าแมลง, อาหารสัตว์, เหล็ก, ปูนซีเมนต์, กระดาษ, ยา, เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีก-ส่ง.